กรุณาปิด AdBlock!

Cancel your adBlock please.

ขยายหน้าเว็บRegister Login
 โฆษณา
หน้า: [1]  ลงล่าง
  พิมพ์  
topic

โรคร้ายที่มากับโลกร้อน  (อ่าน 36349 ครั้ง)

ไอที
« เมื่อ: 23, 04 2008, 10:27:53 PM »
โรคร้ายที่มากับโลกร้อน


ผู้แต่ง ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี



เรื่องของภาวะ ?โลกร้อน (global warming)? หรือที่ภาษาวิชาการนิยมใช้ว่า ?การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)? นั้น ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในหลายรูปแบบทั้งในทางกายภาพที่เห็นได้ชัด เช่น การละลายของน้ำแข็งมากกว่าปกติในหลายบริเวณของโลก เป็นต้น สำหรับภัยทางชีวภาพนั้นดูเหมือนจะยังมีการพูดถึงกันน้อยกว่า แต่ภัยจาก
?โรคร้าย? ที่มาพร้อมกับภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยแบบในยุคนี้
ก็อาจจะส่งผลร้ายแรงได้ไม่ต่างจากการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพเลยแม้แต่น้อย
 

ลองมาดูหลักฐานและแนวโน้มบางอย่างกันครับ
 

ขอเริ่มที่รูปภาพทางภูมิศาสตร์แบบที่อาจจะไม่ค่อยได้เห็นกันนัก
(ดูภาพที่ 1) ผมขอเรียกว่าเป็นภาพ ?โลกของโรค? ก็แล้วกันนะครับ
ในภาพนี้จะเห็นตำแหน่งที่เกิดการระบาดของโรคติดต่อชนิดใหม่ๆ หรือโ
รคติดต่อเก่าๆ ที่กลายพันธุ์และกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้งในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (ในวงกลม) เป็นแหล่งหนึ่งที่พบโรคต่างๆ เหล่านี้ชุกชุมมากที่สุดในโลก
 



ที่มา ภาพที่ 1 โลกของโรค (ที่มา: องค์การอนามัยโลก)

แค่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพียงทศวรรษเดียว คนไทยก็ได้รู้จักและเผชิญหน้ากับโรคที่มนุษยชาติไม่เคยพบพานมาก่อนคือ โรคซาร์ส (SARS) และโรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าเป็นคนในแวดวงวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ก็อาจจะทราบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า มีโรคมาลาเรียและวัณโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ดื้อยาเดิมๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นนะครับว่า แถบใกล้เส้นศูนย์สูตรเป็น ?แหล่งรังโรค (reservoir)? หรือแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของโรคต่างๆ ทั้งโรคเกิดใหม่และโรคเก่าๆ ที่คุ้นชินชื่อเสียงเรียงนามกันแล้ว

โรคที่เกิดขึ้นใหม่แบบไม่เคยพบมาก่อน เช่น โรคซาร์สหรือโรคไข้หวัดนกนั้น จัดว่าอยู่ในกลุ่มของ ?โรคอุบัติใหม่ (emerging diseases)? ในขณะที่โรคอย่างมาลาเรีย วัณโรค หรือแม้แต่เอดส์ที่เคยเป็นโรคอุบัติใหม่ในรอบหลายสิบหรือหลายร้อยปีก่อน ปัจจุบันนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ?โรคอุบัติซ้ำ (reemerging diseases หรือ resurgent diseases)?   โรคเหล่านี้ดูเหมือนคล้ายกับจะควบคุมได้และมีจำนวนผู้ป่วยลดลงในระยะก่อนหน้านี้ แต่แล้วในช่วงไม่กี่ปีนี้ก็กลับมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง

โรคอุบัติซ้ำสามโรคที่เอ่ยถึงข้างต้นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อพลเมืองโลก ดังจะเห็นได้จากข้อมูลในตารางที่ 1 ว่า เฉพาะสามโรคนี้ก็ทำให้มีผู้ป่วยรวมกันแล้วมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในโลกนี้ และทำให้มีผู้เสียชีวิตในแต่ละปีรวมกันแล้วมากกว่า 6 ล้านคนต่อปีเลยทีเดียว!




ที่มา ตารางที่ 1 สามโรคอุบัติซ้ำที่ส่งผลกระทบสูงสุด (ที่มา: The Global Fund)

หากเจาะดูเฉพาะโรคมาลาเรียและโรคที่มากับยุงเป็นหลัก เมื่อเปิดแผนที่โลกและดูการกระจายตัวของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย (ภาพที่ 2) ก็จะเห็นได้ว่าโรคนี้กระจายตัวอย่างกว้างขวางแทบจะทุกภูมิภาคของโลกที่มีคนอาศัยอยู่ จะมียกเว้นก็แต่ในแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป อดีตสหภาพโซเวียต และออสเตรเลียเท่านั้น ที่อาจถือได้ว่าเป็นบริเวณที่ปลอดโรคนี้

โรคมาลาเรียส่งผลกระทบที่ร้ายแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบซับซาฮาราของทวีปแอฟริกา (Sub-Saharan Africa) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้สูงสุดนั้น มีผู้ประเมินว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 11% ของประชากรเลยทีเดียว
 
มีสถิติที่ชี้ว่าในปี 2002 จำนวนชาวแอฟริกันที่เป็นโรคมาลาเรียอาจสูงถึง 515 ล้านคน!
สำหรับประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมาลาเรียในระดับต่ำถึงปานกลาง อันที่จริงแล้วไม่แต่โรคมาลาเรียเท่านั้น
โรคร้ายแรงอีกจำนวนมากที่มียุงเป็นพาหะ (เช่น โรคไข้เลือดออก และโรคไข้สมองอักเสบ เป็นต้น)
ก็ล้วนแล้วแต่อาจจะได้รับผลกระทบต่างๆ จากภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับโรคมาลาเรีย
เนื่องจากเป็นผลกระทบในเชิงกายภาพและภูมิศาสตร์ต่อยุงที่เป็นพาหะของโรค

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกอาจส่งผลอย่างร้ายแรงในกรณีของโรคมาลาเรีย (ภาพที่ 3) ในแบบจำลองคอมพิวเตอร์นี้ คำนวณจากกรณีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไปถึง 2 องศาจากปัจจุบันเมื่อถึงปี 2020 มาลาเรียก็จะแพร่กระจายจนแทบไม่เหลือบริวเวณใดในโลกที่ผู้คนอาศัยอยู่ที่ยังเป็นพื้นที่ปลอดจากโรคนี้อีกต่อไป ที่สำคัญก็คือในบริเวณที่ไม่พบมาลาเรียเป็นโรคประจำถิ่น (เช่น ยุโรป) จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก




ที่มา ภาพที่ 2 แผนที่แสดงจำนวนผู้ป่วยจากโรคมาลาเรียทั่วโลกในปี 2003 สีที่เข้มกว่าแสดงจำนวนผู้ป่วยที่มากกว่า
(ที่มา: องค์การอนามัยโลก)   




ที่มา ภาพที่ 3 แผนที่ซึ่งสร้างขึ้นจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นพื้นที่การกระจายตัวของโรคมาลาเรียในปี 2020หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นราว 2 องศาฟาเรนไฮต์ (ที่มา: Paul R. Epstein/ Scientific American 2000)


แต่ปัจจุบันสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ในภาพที่ 3 ก็เริ่มเห็นแนวโน้มบ้างแล้วหากดูภาพที่ 4 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในบริเวณที่สูงเช่น แถบภูเขาในหลายทวีป (แอฟริกา, อเมริกากลางและใต้ และเอเชีย) นอกจากจะทำให้น้ำแข็งบริเวณยอดเขาที่ไม่เคยละลายมานานชั่วนาตาปีละลายเป็นครั้งแรก ซึ่งอาจทำความเสียหายให้กับพื้นที่ลุ่มซึ่งอยู่ต่ำกว่าแล้ว ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือทำให้พืชและสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค แพร่ขยายพื้นที่อยู่ขึ้นสู่บริเวณที่สูงขึ้นทุกที ในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนี้ก็รวมทั้งยุงที่เป็นพาหะของโรคร้ายแรงหลายชนิด

ข้อมูลในปี 2000 สรุปได้ว่า เมื่อนับย้อนหลังกลับไปเพียง 15 ปี มีการแพร่กระจายของยุงหลายชนิดและโรคที่ยุงเหล่านั้นเป็นพาหะเพิ่มขึ้นในหลายบริเวณของโลก ซึ่งครอบคลุมทั้งในทวีปแอฟริกา อเมริกา และเอเชีย
 
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียว ผลจากการวิจัยชี้ว่าเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างสุดขั้วอย่างทันทีทันใดหรืออย่างยาวนาน เช่น ภาวะความแห้งแล้งหรือความชื้นมากๆ อย่างฉับพลัน หรือแม้แต่อย่างต่อเนื่องยาวนาน ต่างก็ล้วนส่งผลกระทบที่รุนแรงทำให้เกิดกลุ่มสภาวการณ์เลวร้าย ซึ่งเพิ่มความเลวร้ายของเหตุการณ์หลักให้มากขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณ

ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ ในเดือน พ.ย. 1998 เมื่อพายุเฮอริเคน มิทช์ (Mitch) ที่เป็นผลจากทะเลแคริเบียนที่อุ่นขึ้นมากผิดปกติ เข้าถล่มแถบอเมริกากลางนาน 3 วัน ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นเกือบ 2 เมตรแบบฉับพลัน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปว่า 11,000 คน และสร้างความเสียหายมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว มีรายงานว่าในประเทศฮอนดูรัส มีผู้ป่วยจากอหิวาตกโรคตามมาถึง 30,000 ราย ซึ่งเท่าๆ กับจำนวนผู้ป่วยจากโรคมาลาเรีย และยังมีอีกกว่า 1,000 รายที่เป็นโรคไข้เลือดออก ในปีถัดมา ประเทศเวเนซูเอลาก็พบชะตากรรมคล้ายคลึงกันกับประเทศฮอนดูรัส





ที่มา ภาพที่ 4 อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นมีส่วนสำคัญทำให้ยุงและสัตว์พาหะของโรคชนิดอื่นๆ แพร่กระจายในพื้นที่เขตภูเขาซึ่งเดิมปกคลุมด้วยน้ำแข็งได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น (ที่มา: Paul R. Epstein/ Scientific American 2000)


ในทำนองเดียวกัน ฝนตกหนักในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2005 ส่งผลให้น้ำท่วมสูงขึ้นทันที 1 เมตร ตามติดมาด้วยการระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะคือ โรคมาลาเรียและโรคไข้เลือดออก พ่วงต่อมาด้วยโรคที่มากับน้ำเช่น อหิวาตกโรคและโรคท้องร่วงแบบต่างๆ แถมซ้ำด้วยโรคที่มาสัตว์ฟันแทะ เช่น โรคฉี่หนู (leptospirosis) เป็นต้น
 
กลุ่มของเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่คล้องกันอยู่ดังที่อธิบายมานี้เกิดขึ้นกระจายอยู่ทั่วโลก ดังที่แสดงไว้ในภาพที่ 5




ที่มา ภาพที่ 5 ผลกระทบที่เลวร้ายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ มักส่งผลเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ต่อเนื่อง ดังที่แสดงด้วยแถบสีและภาพสัญลักษณ์ของสัตว์พาหะของโรคในภาพนี้ (ที่มา: Climate Change: Futures Health, Ecological & Economic Dimensions, 2006) 

เรื่องของปริมาณน้ำเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของโลกมากน้อยเพียงใด สามารถดูได้จากกราฟในภาพที่ 6 ซึ่งแสดงจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคมาลาเรียในประเทศโมแซมบิคต้นปี 2000 นับจากมหาวาตภัยจากพายุไซโคลนเขตร้อนรวม 3 ลูกที่เข้าถล่มประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดฝนตกหนักนานกว่า 6 สัปดาห์ ผลก็คือมีหลายร้อยคนเสียชีวิตจากการจมน้ำ อีกหลายแสนคนไร้ที่อยู่อาศัยและตกอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขังที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ ผู้คนเหล่านี้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเนื่องจากถนนและสะพานถูกทำลาย ทำให้หน่วยกู้ภัยเข้าไปยังพื้นที่ได้อย่างยากลำบาก
จากกราฟจะเห็นได้ชัดเจนว่า ปริมาณน้ำฝนที่ท่วมขังในบริเวณเมืองหลวงคือ มาพูโต (Maputo) กับจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใดอย่างมีนัยสำคัญต่อกัน (ช่วงหลังสัปดาห์ที่ 49 ในภาพ) 
 
ในอีกมุมหนึ่งของโลก พื้นที่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิลซึ่งปลูกอ้อยปริมาณมหาศาลมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 3 ศตวรรษ ทำให้แผ่นดินแห้งแล้งอย่างหนักจนผู้คนในพื้นที่จำเป็นต้องอพยพเข้าสู่เขตเมืองพร้อมกับนำโรคมาลาเรียมาเผยแพร่ในเขตเมืองอย่างขนานใหญ่
ในประเทศไทยเอง แรงงานไร้ฝีมือค่าจ้างต่ำจำนวนมากที่หลั่งไหลมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ในหลายกรณีผู้คนเหล่านี้ก็เป็นผู้ป่วย (โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ที่นำโรคมาแพร่สู่คนเมืองและคนท้องถิ่น และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการหวนกลับมาหรือการเพิ่มความรุนแรงขึ้นของโรคอุบัติซ้ำหลายๆ โรคเช่นกัน ดังนั้น การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขสำหรบคนกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของคนไทยเช่นกัน




ภาพที่ 6 โรคมาลาเรียระบาดอย่างรวดเร็วช่วง 6 สัปดาห์หลังจากประเทศโมแซมบิคถูกพายุไซโคลนถล่มทำให้ทั้งประเทศจมอยู่ใต้น้ำในต้นปี 2000 (ที่มา: Climate Change: Futures Health, Ecological & Economic Dimensions, 2006)

อันที่จริงแล้ว แม้ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเนื่องจากภาวะโรคร้อนมาเกี่ยวข้องด้วย โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำโดยตัวของมันเองก็นับเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เนื่องจากสภาวะแวดล้อมด้านชีววิทยาในปัจจุบันล้วน แล้วแต่เอื้อให้เกิดโรคใหม่ๆ หรือทำให้โรคที่มีอยู่แล้วแพร่กระจายมากขึ้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียดในหลายพื้นที่ของโลก (เช่น เกาะฮ่องกงที่พบโรคไข้หวัดนกและประเทศจีนที่พบโรคซาร์สเป็นครั้งแรก) การตัดไม้ทำลายป่ากันขนานใหญ่ทั่วโลกซึ่งทำให้สัตว์พาหะของโรคที่เดิมอยู่แต่ในป่า เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น

การเลี้ยงสัตว์เป็นแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีสัตว์เศรษฐกิจเพียงไม่กี่สายพันธุ์หลัก ทำให้หากเกิดโรคระบาดขึ้นจะเกิดความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากขาดความหลากหลายทางสายพันธุ์ที่จำเป็นต่อการสร้างระดับความต้านทานโรคที่แตกต่างกันไป การอยู่ใกล้ชิดกันระหว่างคนและสัตว์นานาชนิด ซึ่งทำให้เชื้อโรคหลายชนิดที่เคยพบแต่ในสัตว์ สามารถปรับตัวจนสามารถเข้ามาอาศัยและก่อโรคในคนได้

นอกจากนี้แล้ว การเคลื่อนที่ของผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นจากการท่องเที่ยว การอพยพหนีภัยสงคราม ภัยแล้ง หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ และความยากจนข้นแค้นในบางพื้นที่ รวมทั้งหนีจากผลกระทบทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ หรือภัยจากการก่อการร้ายต่างๆ

อาจกล่าวได้ว่าเราอยู่ในยุคสมัยที่ ?โลกเปรียบเสมือนขวดเพาะเชื้อขนาดใหญ่? ที่กำลังเพาะเลี้ยงเชื้อโรคต่างๆ นานาอยู่ และ ?ภาวะโลคร้อน? ก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่คล้ายกับเป็น ตัวเร่ง (catalyst) ให้ผลจากหายนะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ!
 


                              aiwebs_008 aiwebs_009 aiwebs_004 aiwebs_005 aiwebs_002 aiwebs_014
nongmeepooh
เด็กไอทีตัวเต็มวัย
*
พลังความคิด 2
กระทู้: 641
บันทึกการเข้า

หน้า: [1]  ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: